โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ข่าว TEDET

โครงการ TEDET จัดอบรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา
(STEM Education) จากประเทศเกาหลีใต้
ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร

          เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563 โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TEDET) ภายใต้การดูแลจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education: SEAMEO STEM-ED) ได้จัดอบรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) จากประเทศเกาหลีใต้ ให้กับครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จำนวน 35 คน ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร เพื่อให้คุณครูนำทักษะที่ได้จากการอบรมไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นวิทยากร



รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
วิทยากร


          การเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนทั้งสี่สาขาเข้าด้วยกัน คือ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าด้วยกัน โดยวิทยากรจะเริ่มจากการตั้งคำถามจากสิ่งใกล้ตัวเพื่อให้เกิดการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน จากนั้นจะสรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ แล้วเสริมด้วยการคิดเชิงสร้างสรรค์หรือแนวคิดเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่แห่งอนาคต
          ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการสร้างหลอดไฟรุ่นใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัย จะต้องเริ่มศึกษาจากหลอดไฟรุ่นแรก ๆ ที่เป็นหลอดใส้ และตั้งคำถามว่าผู้คิดค้นสร้างหลอดแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร และหลอดรุ่นเก่า ๆ นั้นมีข้อเสียอย่างไร แล้วมีแนวคิดที่จะปรับปรุงอย่างไรบ้าง จนมาเป็นหลอดแอลอีดีในปัจจุบัน และให้บูรณาการความคิดว่าหลอดไฟที่ต้องการให้มีในอนาคตเป็นอย่างไร
          หรือหากต้องการพัฒนาแบตเตอรีรุ่นใหม่ ๆ เราควรศึกษาแบตเตอรีในแบบเดิม ว่าทำงานอย่างไร ซึ่งก็คือเซลล์กัลวานิกจากนั้นลองศึกษาสาเหตุที่เลือกใช้โลหะต่าง ๆ เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างเซลล์ไฟฟ้า จากนั้นเชื่อมโยงแนวคิดต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นเซลล์ไฟฟ้ารุ่นใหม่



บรรยากาศการอบรม





สิ่งที่คุณครูได้รับจากการอบรม



ครูพรพิทักษ์ คนหาญ

“การอบรมได้รับความรู้มากเลยนะคะ ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สะเต็ม ที่ประทับใจมาก ๆ ก็จะเป็นการใช้คำถามเป็นการนำ ที่จะทำให้นักเรียนเกิดการค้นหาคำตอบ และใช้กิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนเกิดการตื่นตัวตลอดเวลา และได้ใช้ความรู้มาเชื่อมโยงกันจริง ๆ ก็คิดว่าจะนำหลักการตัวนี้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนของเราให้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ”



ครูบารเมศวร์ สิงห์พร

“ได้แนวคิดใหม่ ๆ ที่จะนำไปใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน รวมทั้งทิศทางในการตั้งคำถามที่ดี ผมชอบมากเลยครับ คำถามที่มีทิศทางให้นักเรียนไปทำโครงงานต่อได้”



ครูอิสราภรณ์ ผิวขำ

“จากการอบรม ได้รับความรู้จากวิทยากร และจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนในห้อง ให้นักเรียนได้คิด และลงมือทำมากขึ้นค่ะ”