โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ข่าว TEDET

โครงการ TEDET จัดอบรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา
(STEM Education) จากประเทศเกาหลีใต้
ณ โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

          เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563 โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TEDET) ภายใต้การดูแลจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education: SEAMEO STEM-ED) ได้จัดอบรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) จากประเทศเกาหลีใต้ ให้กับครูกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ จำนวน 40 คน ณ โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ เพื่อให้คุณครูนำทักษะที่ได้จากการอบรมไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นวิทยากร



รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
วิทยากร


          การเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนทั้งสี่สาขาเข้าด้วยกัน คือ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าด้วยกัน โดยวิทยากรจะเริ่มจากการตั้งคำถามจากสิ่งใกล้ตัวเพื่อให้เกิดการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน จากนั้นจะสรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ แล้วเสริมด้วยการคิดเชิงสร้างสรรค์หรือแนวคิดเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่แห่งอนาคต
          ตัวอย่างเช่น ในการพัฒนาหลอดไฟรุ่นใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยขึ้น ให้เริ่มศึกษาจากแสงสว่างเกิดขึ้นได้อย่างไร ยุคก่อน ๆ ผลิตหลอดไฟโดยการจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าไป แล้วออกมาเป็นพลังงานความร้อน และความร้อนออกมาเป็นแสง แต่แสงที่ได้นั้นมีเปอร์เซ็นต์ไม่ถึง 20% เปอร์เซ็นต์ เพราะส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นความร้อนแทน และทำการเชื่อมโยงหลักการพัฒนาหลอดไฟให้ได้พลังงานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนพัฒนามาเป็นหลอดแอลอีดีในปัจจุบัน ที่มีบริษัทผลิตออกมาสู่ท้องตลาดอย่างมากมาย จากนั้นพยายามให้คิดเชื่อมโยงถึงการพัฒนาหลอดไฟที่ต้องการในอนาคต เช่น หลอดไฟปิดเปิดด้วยบลูทูธ หลอดไฟสามารถปล่อยค่าความถี่ออกมาได้ เพื่อให้ความถี่นั้นสังเคราะห์แสงของพืชได้

บรรยากาศการอบรม





สิ่งที่คุณครูได้รับจากการอบรม



ครูปรัชญา โชโต

“ได้ทราบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสะเต็ม เป็นแนวทาง เป็นตัวอย่าง ทำให้เข้าใจเรื่องของสะเต็มมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน
โดยใช้การตั้งคำถาม นำไปสู่การหาหลักการ และนำหลักการมาขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และได้มีการบูรณาการความรู้ต่าง ๆ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้
สุดท้ายก็มีการประเมินผล ติดตามผลอีกครั้ง”



ครูสมจิตร์ นิรมิตนุรักษ์

“เรื่องสะเต็มเราเคยได้รับรู้มานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่เคยได้อบรมเต็ม ๆ ซึ่งวันนี้ได้รับความรู้เกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกันระหว่างวิชาที่ได้
และที่สำคัญคือ เราก็สามารถนำวิชาไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้ รวมทั้งกิจกรรมที่เสริมทักษะให้กับเด็กสามารถนำไปต่อยอดได้”